26 เมษายน 2552

Forest Plots and Heterogeneity Tests in Meta-analysis

ครับ วันนี้ผมขอเขียนถึงเรื่อง Forest Plot และ Heterogeneity Test ใน Meta-analysis นะครับ เพราะมีคนถามถึงบ่อย

Forest Plot นั้นก็คือการเรียบเรียงรายละเอียดของแต่ละ Study ย่อยครับ ปกติแล้วเวลาเอา RCT มาสรุปด้วยวิธีการทางสถิตินั้นมันจะมีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด เขาก็เลยอาศัยกราฟขึ้นมาเพื่อให้เราสามารถตีความผลลัพธ์ที่ได้ดีขึ้นครับ

ยกตัวอย่างนะครับ จาก Systematic Review เรื่องการรักษาหูหนวกแบบฉับพลันที่ลงใน Arch Otol Laryngol: Conlin AE, Parnes LS. Treatment of sudden sensorineural hearing loss: II. A Meta-analysis. Arch Otolaryngol Head Neck Surg. 2007 Jun ;133(6):582-6. เขาทำการศึกษารวบรวม RCT ที่ให้ Steroid ในคนไข้หูหนวกฉับพลัน เทียบกับคนที่ได้ Placebo และ Outcome เป็นการหายจากหูหนวก โดยพบว่ามี 2 Study ย่อยดังนี้ครับ (คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่นะครับ):

สังเกตนะครับ ว่าเขาจะเอาแต่ละ Study มาเรียงกันเป็นบรรทัด แล้วก็พล็อตเป็นเส้นขีด รวมถึงมีจุดสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง หลังจากนั้นเขาจะแสดงบรรทัด Total (คือการรวมของทุก Study) แล้วแสดงด้วยสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดไว้ในกราฟครับ สังเกตว่าถ้าเราตะแคงหัว 90 องศาจะเห็นกราฟนี้เป็นคล้ายๆ ป่าของต้นไม้ (นั่นคือที่มาของชื่อ Forest Plot น่ะเอง)

วิธีอ่านก็ไม่ยากเย็นอะไรครับ เช่นของ Study แรกนั้นก็แสดง OR อยู่ที่จุด 3.22 (จุดสี่เหลี่ยมจะอยู่ที่ 3.22) และมี 95% CI อยู่ที่ 1.18-8.76 (เส้นขีดจะขีดตั้งแต่ 1.18 ถึง 8.76) วิธีแปลผลก็แปลแบบ OR ธรรมดา (ลองอ่านโพสต์เก่า) เช่นในที่นี้ก็คือ คนที่ได้สเตียรอยด์ มีโอกาสหายเป็น 3.22 เท่าเมื่อเทียบกับ Placebo โดยเรามีความมั่นใจว่า ถ้าทำการทดลอง 100 ครั้งนั้น 95 ครั้งค่านี้จะอยู่ระหว่าง 1.18 ถึง 8.76 เท่าครับ (หรืออีกอย่างคือ ค่านี้มันน่าจะอยู่ในระหว่าง 1.18-8.76)

ส่วน Study อันที่สองนั้นก็เหมือนกันครับ ลองแปลดูเองก่อนนะครับ

.

.

นั่นคือ คนที่ได้ Steroid มีโอกาสหายเป็น 0.89 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ได้ Placebo โดยเรามั่นใจว่ามันจะอยู่ระหว่าง 0.10-7.86 ถ้างงว่าควรแปลยังไง เอาอะไรเทียบอะไร ให้เหลือบไปมองใต้กราฟครับ ว่าของเรามันอยู่ในช่วงที่ Favor Steroid หรือ Favor Placebo

ทีนี้ก็มาถึงตรงสรุปแล้วครับ ก็แปลแบบเดียวกันเป๊ะเลย แต่กราฟเขาพล็อตไว้ให้รูปมันแตกต่างไว้นั่นเอง จากกราฟนี้เราจะสรุปว่า คนที่ได้ Steroid นั้นจะมีโอกาสหายเป็น 2.47 เท่าของคนที่ได้ Placebo โดยเรามั่นใจว่ามันจะอยู่ที่ 0.89 ถึง 6.84 เท่านั่นเองครับ

สำหรับว่าทำไมสี่เหลี่ยมของสอง Study มันถึงขนาดไม่เท่ากัน นั้นถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือมันมีจำนวนคนใน Study นั้นไม่เท่ากันครับ เพราะฉะนั้น Study ที่คนน้อยกว่า เขาก็จะให้น้ำหนักน้อยกว่า (จริงๆ แล้วมีหลายวิธีในการให้น้ำหนักใน Study แต่ที่ง่ายๆ ก็คือให้ตามปริมาณคนใน Study)

ทีนี้ก็มาถึงการแปลผลของ Heterogeneity แล้วครับ

Heterogeneity คืออะไร? Heterogeneity แปลว่า ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันครับ ง่ายๆ เลยคือเหมือนเราเอา ส้มเขียวหวาน มารวมกับ มะนาว แล้วดูเรื่องความเปรี้ยว แล้วเราจะเอามาสรุปว่าส้มมันเปรี้ยวก็คงลำบาก เนื่องจากว่าก็รู้ๆ อยู่ว่ามะนาว มันไม่ใช่ส้ม นั่นคือมันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็น Heterogeneity นั่นเองครับ

ทีนี้เราจะบอกได้ยังไงว่าสิ่งที่เราดูอยู่มันต่างกัน? เพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนส้มหรือมะนาว… วิธีการของนักสถิติคือ เขาจะดูว่าค่าที่ได้มันไปในอารมณ์เดียวกันหรือเปล่าครับ โดยวิธีดูด้วยตาเปล่าคือ กราฟ 95%CI มันคร่อมกันหรือเปล่านั่นเอง

แต่ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นนักสถิติ จะอธิบายด้วยตาเปล่าคงยังไงๆ อยู่ เขาก็เลยใช้วิธีการทางตัวเลขมาเพื่อตอบปัญหาในกรณีนี้ นั่นคือ Heterogeneity Test นั่นเองครับ โดย Heterogeneity Test นั้นมีสมมติฐานหลักว่า แต่ละค่าของการศึกษานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน แล้วพยายามหาค่าโอกาสของความที่ Study มันต่างกัน (ซึ่งเป็น p-Value ของ Test) มาหักล้างนั่นเอง

อย่างในตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวไป นั่นคือเขาทำ Heterogeneity Test ได้ Chi2 = 1.11 เมื่อแปลงมาเป็นค่า p-Value แล้วได้ 0.29 นั่นหมายความว่า “ในทางสถิติแล้ว โอกาสที่จะมี Study ที่ต่างกันซ่อนอยู่ (โอกาสที่มีมะนาวแอบอยู่) นั้น = 29%”

แล้วเราจะเอาเท่าไหร่เป็น cut-point ว่ามันเหมือนหรือไม่เหมือนละ? อันนี้ไม่มีคำตอบครับ ส่วนใหญ่เนื่องจาก Test นี้มันโหดน้อยไปหน่อย ถ้าเอา 0.05 แบบการแปลผล p-Value ทั่วไปแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าทุกอันแทบไม่มีอันไหนไม่ต่างกันเลย เขาจึงเอาที่ 0.10 เป็นเกณฑ์ครับ หมายความว่า Study ใดๆ ที่มันได้ p น้อยกว่า 0.10 นั้นมันอาจมีความแตกต่างกันของ Study ซ่อนอยู่ภายใน

หรือถ้าในกรณีนี้ p=0.29 ก็คือ Study มันน่าจะไปในทางเดียวกันนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับการที่ 95%CI มันคร่อมกันอยู่

ต่อจากนี้แล้วช่วงหลังเขาจะนิยมใส่ค่า I2 เข้ามาด้วยครับ ค่านี้เป็นค่าที่ได้มาจากการคำนวณของ Heterogeneity อีกทีหนึ่ง ซึ่งจะดีกว่าตรงที่มันไม่ต้องมี Cutpoint มันจะบอกเป็น % ให้เลยว่าโอกาสที่ Study มันแตกต่างน่าจะซักเท่าไหร่

อย่างในกรณีนี้ I2 = 9.5% แสดงว่ามันค่อนข้างไม่แตกต่างเท่าไหร่ครับ.. เอ แล้วจะเอาเท่าไหร่มาบอกว่ามันแตกต่างกันเยอะมากน้อยละ? อันนี้ก็กลับมาเรื่อง cutpoint อีกเหมือนเดิม แต่มีคนแนะนำคร่าวๆ ไว้ถ้าเกิดว่ามัน <25% มันก็แตกต่างไม่เท่าไหร่ 25-50% แตกต่างมากหน่อย >50% ควรระวังได้แล้ว แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่า cutpoint นั้นไม่ใช่จุดชี้ชะตานะครับ เป็นแค่คำแนะนำจากนักสถิติเท่านั้นเอง (เพราะงั้นหนังสือแต่ละเล่มย่อมไม่เหมือนกันแน่ๆ)

แล้วทีนี้ Study แต่ละอันจะแตกต่างกันได้ยังไงบ้าง Source ของ Heterogeneity มันจะมาจากไหน?

  • อาจแตกต่างกันในแง่ของการดำเนินงาน เช่น ทำในประชากรคนละที่, ให้ยาคนละ dose, เก็บข้อมูลกันคนละแบบ
  • หรือแตกต่างในแง่ของคุณภาพการศึกษา (methodology quality) เช่น Randomize ดี รัดกุม อีกอัน โยนหัวก้อย หรืออันหนึ่ง Blind อีกอันไม่ Blind เป็นต้น

ซึ่งบางครั้งใน Meta-analysis ก็อาจแบ่ง Study เป็นหลายๆ แบบเพื่อดูว่าถ้าแบ่งตามยา dose น้อยแล้วผลมันจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเอาเฉพาะ Study ที่คุณภาพดีๆ นั้นจะไปทางเดียวกันหรือเปล่า (ซึ่งก็อาจใช้ค่า I2 มาดูนั่นแหละครับว่าแบ่งแล้วมันดีขึ้น หรือมันแย่ลง)

สำหรับ Test for Overall Effect นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Random Effects และ Fixed Effect Model ซึ่งค่อนข้างจะอธิบายนานครับ ยังไงผมขอผ่านไปก่อน เดี๋ยววันหลังจะมาอธิบายในตอนการ Appraise Systematic Review อีกทีให้นะครับ :)

22 เมษายน 2552

Hierarchy of evidence

วันนี้ขอพูดถึงเรื่อง ลำดับความสำคัญของหลักฐานนะครับ

ทำไมเราถึงต้องมานั่งจัดลำดับความสำคัญของหลักฐาน (Hierarchy) ? นั่นก็เพราะมันมี “ความน่าเชื่อถือ” ของหลักฐานนั้นไม่เท่ากันครับ ยกตัวอย่างใกล้ตัวเช่น ข่าวลือในอินเทอร์เน็ต หรือ Forwarded mail ว่าดาราคนนั้นกำลังระหองระแหงกับดาราอีกคน เราก็คงคิดว่า อูย มันไม่รู้ว่าจะเชื่อได้หรือเปล่า บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดว่าดาราคนนั้นเขาออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ ก็รับรองว่าทุกคนจะต้องเชื่อแน่นอน (ยกเว้นบางคนที่ขี้ระแวง) นั่นก็หมายความว่า ข่าวลือในอินเทอร์เน็ตนั้นมัน “น่าเชื่อถือ” น้อยกว่าข่าวจากปากเจ้าตัวนั่นเองครับ

ในทางเดียวกัน ความน่าเชื่อถือในการศึกษาต่างๆ นั้นก็มีไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วมีคนเสนอหลักคร่าวๆ คือ

  • ถ้าดูตาม Design: Experimental Design (ที่คนศึกษาสามารถกำหนดปัจจัยต่างๆ เอง) นั้นน่าเชื่อถือกว่า Observational Design แล้วถ้าเป็น Observational Design ที่ n (ปริมาณคนใน study) มาก ย่อมน่าเชื่อถือกว่า n น้อยๆ
  • Prospective มักจะน่าเชื่อถือว่า Retrospective (เรากำหนดสิ่งต่างๆ ที่จะวัด แล้วค่อยมาวัด ย่อมดีกว่า ได้ข้อมูลครบถ้วนกว่า)
  • ถ้าดูตามจำนวน Study: ถ้ามีหลาย Study ย่อมดีกว่ามี Study เดียว (ทำนองว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียวงั้นเหอะ)

เมื่อนำหลักพวกนี้มาพิจารณาแล้วจะพบว่า Study ทั้งหลายแหล่ที่เราพบกันบ่อยๆ นั้นควรจะมีลำดับขั้นความน่าเชื่อถือดังนี้

  • Systematic Review/Meta-analysis of Randomized Controlled Trial (RCT) น่าเชื่อสุด
  • RCT ใหญ่ๆ
  • RCT เล็กๆ (หรือ RCT ที่ออกแบบได้ไม่ดี)
  • Controlled Trial อื่นๆ ที่ไม่ได้ Randomized
  • Systematic Review of Observational Study
  • Cohort Study
  • Case-control Study
  • Case series
  • Case report
  • Concensus conference
  • Expert opinion น่าเชื่อน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดีลำดับความน่าเชื่อถือนี้มีผู้โต้แย้งมากมาย บางคนอาจจะสลับกันว่า Controlled Trial เอาไว้ล่างกว่านี้ หรือ Concensus ไว้ข้างบนหน่อย สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าลำดับตามนี้ก็ค่อนข้างมีเหตุผลครับ เช่น Case Series > Case Studies นั้นเพราะมีตัวอย่างคนไข้เยอะกว่า สำหรับ Concensus conference ย่อมมีหลายหัวมากกว่า Expert หัวสองหัว Systematic Review ย่อมดีกว่า Study แต่ละอันเนื่องจากข้อมูลเยอะกว่า

ดังนั้นเวลาที่เราจะพยายามตอบคำถามต่างๆ เราก็ควรที่จะยึดหลักตามนี้ด้วยครับ ถ้ามันมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือตามลำดับสูงกว่า เราก็น่าจะเลือกอันนั้นมาตอบคำถามของเรา (แต่อย่าลืมว่าข้อมูลนั้นจะต้องคล้ายคลึงกับคนไข้เราด้วยนะครับ) ยกเว้นเพียงอย่างเดียว คือ โดน expert บีบคอให้เชื่อ :P

และลำดับความสำคัญนี้เองครับ เป็นที่มาของ Grading of Recommendation ตามที่เราเห็นใน Guideline ต่างๆ ครับ เช่นว่า Level A recommendation, Level B recommendation (ระบบ Grading นี่มีหลายระบบมาก และแต่ละระบบก็แบ่งไม่เหมือนกัน ต้องลองดูในเอกสารประกอบ Guideline จะมีระบุไว้ครับ ว่าเขาหมายถึง Study Design แบบใดบ้างครับ)

ถ้าสนใจเรื่องนี้ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ University of Westminster นะครับ

19 เมษายน 2552

ย้ายเว็บไซต์

เพื่อเป็นการสะดวกสำหรับทุกท่านที่ต้องการเยี่ยมชมเว็บไซต์ ตอนนี้ผมได้จดทะเบียนชื่อโดเมนในอินเทอร์เน็ตใหม่นะครับ
ท่านสามารถเข้าบล็อกผมได้ผ่านทาง http://www.clinicalepi.com ครับ (จำง่ายดีมั้ยครับ ;) ) ทุกท่านสามารถเข้าทางเดิมก็ได้ หรือทางที่อยู่ใหม่ก็ได้ครับ

16 เมษายน 2552

เขียน Reference ด้วย Zotero

การเขียน Reference นั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการเขียนเอกสารทางวิชาการในปัจจุบันครับ เนื่องจากถ้าเราไม่มีที่มาอ้างอิงแล้ว ข้อมูลที่เรายกขึ้นมาลอยๆ นั้นอาจจะดูไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังไม่ให้ความเคารพแก่เจ้าของความคิดเดิมด้วยในบางกรณี แต่หลายท่านคงจะเบื่อที่จะต้องมานั่งเขียนที่มาเองเหมือนเด็กมัธยม วันนี้ผมขอเสนอวิธีช่วยงานด้วยโปรแกรม Zotero ครับ

โปรแกรม Zotero (อ่านว่า zoh-TAIR-oh) นั้นถูกพัฒนาขึ้นด้วยความสนับสนุนจาก George Mason University ครับ โดยก่อนหน้าที่จะมีโปรแกรมนี้ขึ้นมานั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้โปรแกรมอื่น เช่น EndNote (เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้กันอยู่) แต่ปัญหามันมีอยู่ว่าโปรแกรมพวกนี้มันไม่ฟรี ต้องเสียเงิน นอกจากนี้ยังใช้งานลำบากพอสมควร (เพราะมีมาตั้งแต่อินเทอร์เน็ตยังไม่ฮิต หาเปเปอร์ต้องวิ่งหาห้องสมุด) ก็เลยได้พัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา

หลักการของโปรแกรมนี้เหมาะมากสำหรับการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตครับ โดยโปรแกรมนี้จะฝังตัวเป็นส่วนเสริมไปกับโปรแกรมเล่นอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า Firefox (ไม่รู้ว่ารู้จักกันหรือเปล่า แต่พูดง่ายๆ คือเป็นโปรแกรมเปิดอินเทอร์เน็ตอันนึง นอกเหนือจาก Internet Explorer หรือตัว e สีฟ้าที่นิยมใช้นะครับ) เวลาเราไปเจอเปเปอร์ไหนน่าสนใจ หรือแม้แต่เจอหน้าอินเทอร์เน็ตไหนน่าสนใจ ก็เพียงคลิ๊กที่ไอค่อน มันก็จะทำการแยกแยะให้เราเสร็จว่าเปเปอร์นั้นคนเขียนชื่ออะไร ลงใน Journal ไหน ปีไหน ในฐานข้อมูลส่วนตัวของเราให้เรียบร้อย หลังจากนั้นเวลาเราจะเอาไปใส่ใน Word ก็เพียงคลิ๊กเดียวอีกเช่นกัน

อะไรมันจะสะดวกปานนั้นใช่ไหมครับ งั้นเราลองกันเลยดีกว่า

ขั้นแรก ก็ให้ติดตั้งโปรแกรม Firefox ตัวหลักก่อน บางท่านอาจจะลงไว้แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ลง ให้เข้าไปที่ http://www.getfirefox.com นะครับ แล้วก็ดาวน์โหลดมา หลังจากนั้นทำตามขั้นตอนดาวน์โหลดจนเสร็จ (มีเป็นภาษาไทยด้วย) ถ้างง ไม่เข้าใจ ลองอ่านอธิบายวิธีติดตั้งเป็นภาษาไทยโดยละเอียดที่ http://www.mhafai.com/2007/06/firefox-installation-guide นะครับ

พอติดตั้งเสร็จ เปิด Firefox ขึ้นมาก็จะเป็นแบบนี้ครับ:

Zotero1

วิธีการก็เหมือนกันกับการท่องอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปครับ พิมพ์ที่ๆ จะไปด้านบน แต่วันนี้เราจะลงส่วนเสริม Zotero กัน เพราะฉะนั้นก็ไปเลยที่ http://www.zotero.org

Zotero2

หลังจากนั้นแล้ว ให้คลิ๊ก download ด้านขวาบนเพื่อติดตั้ง Zotero ลงใน Firefox ครับ (แนะนำว่าให้ใช้รุ่น 1.0 ก่อนเนื่องจากรุ่น 1.5 นั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ครับ

หลังจากคลิ๊กถ้ามีช่องเหลืองๆ ด้านบนขึ้นมาถามว่ายอมให้ติดตั้งหรือเปล่า ก็ให้กด ยอมไปครับ

Zotero3

รอสักพัก จะขึ้นว่า ต้องการติดตั้งจริงๆ นะ ก็ให้ติดตั้งไปเลยครับ

Zotero4

หลังจากนั้นโปรแกรมจะทำการดาวน์โหลด Zotero มาใส่ใน Firefox ให้โดยอัตโนมัติครับ (ประมาณ 1 เมกะไบต์กว่าๆ) และเมื่อโหลดเสร็จก็จะให้เราเริ่ม Firefox ใหม่ครับ ก็คลิ๊กเลย

Zotero5

พอเปิดมาใหม่ ทีนี้ทุกหน้าต่างของ Firefox ก็จะมีไอคอน zotero อยู่มุมขวาล่างแล้วครับ

Zotero6

ทีนี้ก็มาถึงวิธีการใช้อย่างจริงจังแล้วครับ จะลองคลิ๊กไอคอนนั้นเข้าไปดูกันเลย (คลิ๊กคำว่า zotero เพื่อเปิดหรือปิดหน้าจอของ Zotero)

Zotero7

ตรงด้านซ้ายนี้จะเป็นรายการที่เราสามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้ครับ เช่น ผมมีเรื่องสนใจด้านหูคอจมูก ก็แยกหูไว้โฟลเดอร์นึง จมูกไว้อีกอันนึง เป็นต้น แต่จะไม่แยกเป็นหมวดหมู่ก็ได้ ทุกอันก็จะไปกองกันอยู่ตรง Library หมด ส่วนตรงการนั้นจะเป็นรายการทั้งหมดในโฟลเดอร์ที่มีในขณะนั้นครับ และด้านขวานั้นจะเป็นรายละเอียดของตรงกลางที่ได้เลือกเอาไว้ครับ

เอาละครับ คราวนี้ถึงเวลาเพิ่มเปเปอร์ลงไปใน Library กันแล้ว ผมขอลองกับเว็บไซต์เดิมๆ ละกัน สมมุติว่าผมหาคำว่า ‘tinnitus’ ใน PubMed โดยใช้ MeSH Term อยู่ (ใครงงว่า MeSH Term คืออะไรกรุณาอ่านที่ผมเขียนไว้คราวก่อนนะครับ

Zotero8

สมมติว่าผมสนใจอันที่สอง ก็เลยคลิ๊กเข้าไปอ่านดู

แล้วก็พบว่ามันใช่เลย! ผมต้องการอันนี้แหละ ที่จะไปใส่ใน Reference ของบทความใหม่ของผม ผมก็เลยคิดว่าจะเอามันไปใส่ใน Library วิธีการง่ายนิดเดียวครับ คือรอให้มันมีไอคอนปรากฎอยู่ข้างๆ แถบรายการข้างบน แล้วก็คลิ๊กตรงรูปเอกสารเล็กๆนั่นแหละ:

Zotero9

Zotero ก็จะแจ้งขึ้นมาว่ามันกำลังเอาเข้าไปใน Library อยู่ รอสักครู่แล้วเช็คดูว่ามันเข้าไปได้ดีหรือเปล่า เพียงเท่านี้เป็นอันจบพิธีครับ จะเห็นว่าเข้าไปอยู่ใน Library เรียบร้อย แล้วก็กรอกตามช่องให้เสร็จเลยด้วย!!

Zotero10

นอกจากนี้เวลาที่มันเป็นรายการหลายๆ อันในหน้าเดียว มันก็ยังจะขึ้นเป็นรูป Folder ให้เราเลือกได้ด้วยนะครับ เช่น ตอนที่เราเห็นผลการค้นหาใน PubMed หลายๆ อัน จะเอาอันไหนก็ติ๊กเลย

Zotero11

เวลาเราต้องการใส่ Citation นั้นเราสามารถคลิ๊กขวาใน Library (จะเลือกหลายๆ อันก็ได้ ให้กด Ctrl ค้างไว้แล้วเลือกหลายๆ อัน) แล้วเลือก Create Bibliography from Selected Items

 Zotero12

แล้วเลือกว่าต้องการแบบไหน (โดยปกติที่นิยมใช้กัน แนะนำแบบ Vancouver ครับ หรือแบบอื่นๆ ก็มีเช่นของ NLM, AMA) แล้วก็เลือกว่าจะเอาออกไปที่ไหน ถ้าจะเอาไป Paste ในที่อื่น เช่นเขียนลงบล็อกก็เลือก Clipboard เพียงเท่านี้ ก็เสร็จแล้วครับ .. เฮ้ย อะไรมันจะง่ายปานนั้น!

Zotero13 Zotero14

เท่านี้ยังไม่พอนะครับ เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้เอาไปตัดแปะประกอบการเขียนลงบล็อกแบบผมซะที่ไหน ส่วนมากเขาก็เอาไปประกอบเปเปอร์ตัวเองกันทั้งนั้น แล้วคนส่วนใหญ่ก็ใช้ Word เวลาพิมพ์ไปพิมพ์มาเดียวก็แก้ ย้าย Reference ไปไว้บทแรกมั่ง บทหลังมั่ง บรรทัดก่อนหน้าบ้าง บรรทัดสุดท้ายบ้าง ครั้นจะมานั่งเลือกแต่ละอันทีละ 1 2 3 คงลำบาก แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถึงแม้คุณจะใช้ Word คุณก็สามารถใช้ Zotero ติดตามไปได้ด้วย!

เพียงแค่เข้าไปที่เว็บ Zotero ตามเคยครับ มองถัดมาล่างๆ หน่อย จะมีคำว่า Cite from within Word and OpenOffice เพียงคลิ๊กเข้าไปก็จะมีให้ดาวน์โหลดส่วนเสริมสำหรับ Microsoft Word แล้วครับ (ลิงก์มันอยู่ล่างๆ หน่อยนะครับ)

Zotero15

เมื่อโหลดมาลงเสร็จแล้วนั้นเวิร์ดของเราจะปรากฎไอคอนขึ้นมาแถบนึงครับ (แบบของ Word XP, 2003, 2007 อาจต่างกันเล็กน้อยนะครับ)

Zotero16

โดยถ้าเราต้องการใส่อันไหนลงไปใน Word เราก็คลิ๊กไอคอนแรกครับ (ครั้งแรกที่เริ่มใส่ มันจะถามก่อนว่าจะใส่แบบไหน เช่นเคยแนะนำ Vancouver ครับ) แล้วก็จะปรากฎหน้าคล้ายๆ ใน Library ขึ้นมา ก็เพียงแค่เลือกแล้วกด OK เท่านั้นครับ

Zotero17

 

Zotero18

จะใส่ก็อันก็ได้ครับ ตามสบายเลยครับ และถ้าต้องการปิดท้ายด้วยการใส่ Citation ทั้งหมด ก็เพียงคลิ๊กปุ่มที่สามครับ ก็จะมาให้เรียบร้อย

Zotero19

Zotero20

ถ้ามีการโยกย้ายที่เราทำ Citation เอาไว้ ตัวเลขมันจะไม่เปลี่ยนตาม ให้คลิ๊กที่ปุ่มรูปลูกศรทีนึงเพื่อให้มันเปลี่ยนตามครับ

Zotero21

นอกจากจะเอารายการเข้าผ่านทาง PubMed แล้ว เราก็ยังเอาเข้าได้จากเว็บอื่นๆ ด้วยครับ นอกจากนี้แล้วยังใส่รายการได้เองด้วย ลองเล่นๆ ดูได้ครับ แต่ที่ผมใช้ประจำก็จาก PubMed นี่หละ

หวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างนะครับ อย่าลืมนะครับ การที่ไม่ได้ Cite ที่มาของข้อมูลนั้นนอกจากจะทำให้เปเปอร์เราไม่มีน้ำหนักแล้วยังจะไม่ให้เกียรติคนที่เขียนให้เราอ่านกันด้วยครับ ขอให้โชคดีครับ

03 เมษายน 2552

Incidence and Prevalence

วันนี้ผมขอคั่นด้วยเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบนะครับ คือเรื่องของ Incidence และ Prevalence เพราะหลายคนอาจจะสับสนกันบ่อยว่ามันคืออะไร ต่างกันยังไง

มาดูคำง่ายกันก่อน นั่นคือ Prevalence คำนี้ความหมายไม่ยากครับ มันก็คือสัดส่วนของคนที่เป็นโรคที่เราสนใจในคนทั้งหมดนั่นเอง หรือภาษาชาวบ้านก็คือ โรคนี้มันเป็นกันกี่ % เช่น เราบอกว่า ในคนไทยมี prevalence ของโรคเบาหวาน 20% ก็หมายความว่า ถ้า ณ วันนี้เอาคนไทยมา 100 คนแบบสุ่มๆ จะพบว่ามีคนเป็นเบาหวาน 20 คนนั่นเอง อันนี้คิดว่าทุกคนคงจะเข้าใจกันดีนะครับ ที่มาของตัวเลขนี้ส่วนมากก็เกิดจากการทำการศึกษาแบบ Cross-sectional นั่นเอง เช่น กระทรวงสาธารณสุขให้โรงพยาบาลทั้งประเทศรายงานจำนวนคนที่เมาในคนที่มารพ. เป็นต้นครับ

สังเกตุว่าเนื่องจากเป็น Cross-sectional มันก็จะเป็นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา จึงไม่จำเป็นจะต้องเอาเวลามาเกี่ยวข้องกับการคิด หรือหน่วยเลยครับ ลองดูรูปภาพนี้นะครับ

prevalence

สังเกตว่า Prevalence ก็คือการตัดเอาที่จุดเวลา ถ้าผมเลือกว่าจุดเวลาของผมคือ 2003 ดังนั้นผมก็ไม่ต้องสนใจเวลาอื่น Prevalence ของคนสีแดง (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ) = 3 ในคนทั้งหมด 7 คน หรือคิดเป็น 3/7 = 0.43 หรือ 43% นั่นเองครับ

ลองคิดดูนะครับว่าจากรูปดังกล่าว Prevalence ของคนสีแดงที่ปี 2005 เป็นเท่าไหร่

.

.

.

เฉลย คือ 3/7 เหมือนกันนะครับ

นอกจากคำว่า Prevalence ที่ใช้โดยทั่วไปแล้ว ยังมีคำว่า Point Prevalence, Prevalence Proportion, Prevalence Rate ซึ่งต่างก็หมายถึง Prevalence เหมือนกันทั้งหมดครับ (ดังนั้นก็จำคำว่า Prevalence อย่างเดียวก็น่าจะพอ)

ในทางกลับกัน คำว่า Incidence นั้นมีที่มาจากการศึกษาแบบ Cohort ดังนั้นจึงมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหมายถึง จำนวนเคส ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราตามไปศึกษานั่นเอง ยกตัวอย่างรูปเดิมนะครับ

incidence

สังเกตุว่าเมื่อเราตามคนที่มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรค (Population at risk -- ซึ่งแน่นอนคนที่เป็นโรคไปแล้วเราก็ไม่คิด) ไปเป็นระยะเวลา 20 คนปี เราจะเจอเคสใหม่ 2 เคส หรือเราอาจบอกว่าเจอ 2 เคสใน 20 คนปีก็ได้

ทำไมต้องเป็นหน่วย คนปี? เพราะว่ามันจะช่วยเราในการเอาไปเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ศึกษาในจำนวนคนหรือปีต่างกันครับ เช่น แทนที่จะศึกษา 5 คนใช้เวลา 4 ปีแบบตัวอย่าง เราอาจจะศึกษา 10 คนในเวลา 2 ปี ก็ได้ 20 คนปีเหมือนกันเลย

ดังนั้น ตามคน 5 คนไป 4 ปี พบ 2 เคส ก็ = 2/20 = 0.1 Case/person-year
ตามคน 10 คนไป 2 ปี พบ 2 เคส ก็ = 2/20 = 0.1 Case/person-year
ตามคน 100 คนไป 0.2 ปี พบ 2 เคสก็ = 2/20 = 0.1 Case/person-year เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า มันจะมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเองครับ ดังนั้นเวลาไปใช้ที่ไหน ใช้ให้ถูกหน่อยนะครับ Prevalence ไม่ต้องมีหน่วยของเวลา แต่ถ้า Incidence นั่นต้องมีแน่ๆ อย่าใช้สับสนกันนะครับ