11 ตุลาคม 2562

แชร์ประสบการณ์การสอน EBM ตามแบบ Oxford

ช่วงปลายเดือนกันยายน ผมได้มีโอกาสจากมหาวิทยาลัย ได้ส่งไปเรียนคอร์ส Teaching EBM (วิธีการสอน EBM) จากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษมา ซึ่งเป็นแหล่งที่ดังด้าน EBM มากแหล่งหนึ่ง (​อีกที่ที่มีชื่อเสียงคือ McMaster University แคนาดา) เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ครับ

Center for Evidence Based Medicine ที่ Oxford มีคอร์สที่เปิดให้คนนอกลงทะเบียนเยอะพอสมควร และคอร์สเหล่านี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน Master ที่นั่น หมายความว่าคนนอกก็จะเรียนปะปนไปกับนักเรียน Master โดยนักเรียน Master มีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือมี Assignment ที่ต้องทำหลังจากที่จบคอร์สแล้วด้วยครับ (แต่คนนอกไม่ต้องทำ) ระยะเวลาเรียนของคอร์สนี้เป็นเพียงสัปดาห์เดียว แต่ก็เป็นสัปดาห์ที่เข้มข้นมากครับ เรียนตั้งแต่เก้าโมงถึงห้าโมงเย็นทุกวัน (พักกินข้าวแค่ชั่วโมงเดียวตอนเที่ยง) รูปแบบการเรียนของที่เขาจัดจะเป็น Lecture ในห้องใหญ่ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะแยกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 10-15 คน ต่อคนครบครึ่งวัน แล้วช่วงบ่ายก็มี Lecture สลับกับกลุ่มย่อยเหมือนกันจนเย็นครับ





คลาสที่ผมไปเรียนมีคนลงทะเบียนประมาณ 80 คน เลยมีการแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม ทางมหาวิทยาลัยมหิดลส่งผมไปเรียนร่วมกับอาจารย์อีก 3 ท่าน แต่เราอยู่กันคนละกลุ่มกันครับ ผมโชคดีมากๆ ได้อยู่กลุ่มย่อยที่มี Professor ที่เป็นหัวหน้าหน่วย EBM (Center for Evidence Based Medicine) ที่นั่นคือ Professor Carl Heneghan เป็นคนคุมกลุ่มย่อยพอดีเลยครับ โดยกลุ่มย่อยจะมีอาจารย์ 1 ท่านและผู้ช่วยสอนเป็นคนช่วย Reflect อีก 1 ท่านครับ

การเรียนการสอนในกลุ่มใหญ่ก็จะมีการสอนเกี่ยวกับวิธีการสอน EBM ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องการตั้งคำถาม ควรสอนอย่างไร การสอนเรื่องการค้นหาคำตอบ การสอนเรื่อง Diagnostic การสอนสถิติที่เกี่ยวข้อง แนะแนววิธีการออกแบบคอร์ส แนะแนววิธีการทำคอร์สออนไลน์ ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่เวลาเขาสอนก็จะสอดแทรกเทคนิคในการสอนต่างๆ ด้วยครับ เช่น ทำอย่างไร นักเรียนถึงจะมีส่วนร่วมในคลาส การจัดกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนเพื่อดึงดูดความน่าสนใจในวิชาที่อาจจะดูน่าเบื่อ (แบบสถิติ)

ส่วนกลุ่มย่อยนั้นอาจารย์จะให้เราสลับกันออกมา "สอน" เพื่อนๆ สาธิตให้อาจารย์ดู และอาจารย์จะให้ Reflect ทั้งจากตัวเราเองและจากเพื่อนๆ ว่าวิธีการสอนเราเป็นอย่างไร และมีจุดไหนที่น่าสนใจ หรือจุดไหนควรปรับปรุง ซึ่งด้วยความที่กลุ่มผมมีอาจารย์ที่มีประสบการณ์มาก (แกสอนมาแล้ว 20 ปี) อาจารย์เลยมีเทคนิคต่างๆ ในการสอนมากมายครับ ซึ่งผมว่าน่าสนใจ โดยผมแทบไม่เคยเห็นเทคนิคเหล่านี้ใช้บ่อยๆ เท่าไหร่ในวิชานี้ (อาจจะมีใช้บ้างในวิชาอื่นๆ)​ ซึ่งโดยรวมผมว่าผมได้อะไรมาพอสมควร เลยอยากขอแชร์นิดหน่อย ดังนี้ครับ

อาจารย์ Carl เป็นคนที่ Active มาก เวลาแกสอนจะตั้งใจสุดๆ เดินเข้ามาในห้องกลุ่มย่อยแล้วแกจะสังเกต จดเอาไว้ และให้ comment กับทุกอย่างที่นำเสนอครับ เพื่อนคนแรกเริ่มการสอนด้วย "การขอโทษว่าที่กำลังจะสอนอาจจะไม่ดีเท่าไหร่" อาจารย์แกบอกเลยว่าห้ามเริ่มด้วย "คำขอโทษ" ในการสอนเด็ดขาด เพราะคนฟังจะรู้สึกทันทีว่าสิ่งที่เราจะสอนไม่มีคุณค่า คือไม่ว่าไฟจะดับ พาวเวอร์พอยต์จะพัง สไลด์ที่เตรียมจะเพิ่งเตรียมเสร็จ 1 ชั่วโมงก่อนสอน หรือเมื่อคืนไม่ได้นอนก็ตาม ห้ามขอโทษในสิ่งที่จะสอน หรือมองย้อนกลับคือคุณต้องเตรียมตัวในสิ่งที่คุณจะสอน และมีความมั่นใจในการสอนครั้งนั้นนี่เอง

ระหว่างเพื่อน เตรียมสไลด์มาสอนแล้วมีปัญหาในการเปิด อาจารย์บอกต่อมาทันทีว่า คุณไม่ควรปล่อยเวลาที่รอเปิดสไลด์ เปิดคอมนี่ไปโดยเปล่าประโยชน์ อาจจะใช้ในการทบทวนความคิดนักเรียน หรืออาจจะเริ่มกิจกรรมให้นำสู่บทเรียนเลยเช่น ให้คุยกับคนข้างๆ ว่าวันนี้จะได้เรียนอะไร

ความมั่นใจ เป็นเรื่องหนึ่งที่ส่วนตัวผมมีปัญหามากๆ ทุกครั้งที่สอนผมไม่ค่อยมั่นใจตัวเองเลย อาจารย์ comment ผมส่วนตรงนี้ว่า จริงๆ แล้วผมไม่เห็นคุณจะประหม่าอะไรตอนสอนเลย ทุกคนในห้องก็ไม่เห็นพฤติกรรมความประหม่าตรงนี้ด้วย แล้วถึงจะประหม่าคุณก็ต้อง cope เอาความประหม่ามาใช้ในการสอนให้ได้ครับ

อาจารย์ย้ำด้วยว่าวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละคาบนั้นไม่ควรจะเยอะเกินไป การที่เยอะไปจะทำให้การจัดระเบียบความคิดทำได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังควรจะค่อยๆ เสต็ปความคิดของนักเรียนเป็น small & managable chunks ถ้าเกิดเราต้องสอนมากเกินไป อาจจะทำการปรับเปลี่ยนการดีไซน์คอร์สเสียใหม่ ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการให้นักเรียนรู้ตรงจุดไหนมากที่สุด (Take home message) แล้วย้ำตรงนั้น ดีกว่าสอนอัดเนื้อหาเยอะๆ ซึ่งผมว่าเป็นเทคนิคของการเรียนรู้แบบตะวันตก หาได้ยากในการเรียนการสอนแบบเอเชียครับ

ระยะเวลาที่ผู้เรียนเข้าเรียนเองก็ต้องชัดเจนครับ อาจารย์ต้องไม่สอนเกินเวลาเด็ดขาด ตอนผมทดลองสอน ได้แบ่งกลุ่มเพื่อนแล้วพูดว่าจะจับเวลาให้นักเรียนทำกิจกรรมเล็กๆ 2 นาที แล้วจริงๆ เวลานั้นนานเกินมานาทีนึง อาจารย์บอกว่าไม่ควรทำแบบนี้ ควรเอาที่ 2 นาทีจริงๆ แล้วค่อยถามผู้เรียนก็ได้ว่าจะขอต่อเวลาไหม กิจกรรมที่จะให้นักเรียนทำในห้องเองก็จะต้องชัดเจน มีคำสั่งขึ้นหน้าห้องในสไลด์ให้ดูว่าจะทำอะไร ถ้าคำสั่งทำยากก็อาจจะต้องเตรียมบางอย่างให้ง่ายขึ้น เช่น เตรียมบัตรคำ เตรียมเขียนโครงมาให้นักเรียนก่อน เพื่อประหยัดเวลานักเรียนด้วย แล้วเมื่อสั่งให้ทำกิจกรรมกลุ่มก็ต้องถามย้ำทฺกคนในคลาสว่าเข้าใจนะว่าจะต้องทำอะไรก่อนทุกครั้ง ไม่งั้นจะมีคนที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรถูก left behind

อีกเทคนิคคือการใช้ Post-it ให้นักศึกษาเขียนคำตอบลงไป การใช้ Post-it จะทำให้นักเรียนไม่เคร่งกับการจดจ่อว่าต้องเขียนถูกเป๊ะ เพราะมันไม่ใช่กระดาษสอบ เขียนผิดก็ฉีกทิ้งเขียนใบใหม่ได้สบายๆ อีกเทคนิกที่ทำให้กล้าบอกคำตอบกับ Post-it คือให้คนเรียนเขียนคำตอบของตัวเองลงไป แล้ว swap กับเพื่อนข้างๆ ไปเรื่อยๆ แล้วให้คนสุดท้ายบอกคำตอบออกมา จะทำให้ไม่มีใครรู้ว่าคำตอบนั้นๆ เป็นความคิดของใคร กล้าพูดออกมา เป็นการลดความกลัวที่จะตอบผิด

สภาพการเรียนห้องใหญ่และการแจก Post-it เพื่อประกอบกิจกรรมแทบทุกคาบ


แล้วการช่วยกันตอบก็มีความสำคัญ คือเราสามารถที่จะ Assign คนไปเลยว่า คนนี้ให้ตอบคำถามส่วนนี้ คนนี้ตอบส่วนนั้น เช่นหัวข้อที่เราสอนต้องถามว่า P, I, C, O คืออะไร แทนที่จะถามทุกคนให้เขียนกันหมด ก็บอกไปเลยว่าให้คุณ A คิด P, คุณ B คิด I, คุณ C คิด C, คุณ D คิด O ไปเลยทุกคนจะได้โฟกัสของตัวเองมากขึ้น

การแสดงความคิดเห็นในห้อง สิ่งที่เรามักจะประสบปัญหากันคือเวลาถามไปในห้องแล้วไม่มีคนกล้าที่จะตอบ อาจารย์เฉลยว่าจริงๆ คือเราต้องให้เวลาเขามากพอก็จะมีคนทนไม่ไหวว่าไม่มีคนตอบเสียที แล้วลุกขึ้นมาตอบเอง ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างวันที่ทดลองใช้ตอนกลับมาไทย ถามไปตอนแรกไม่มีคนตอบ รอไปเรื่อยๆ ในที่สุดน้องก็ทนไม่ไหวตอบออกมาคนนึงเอง

สิ่งที่อาจารย์แนะนำในการ lecture ห้องใหญ่หน่อยคือ คนเรียนจะฟังสารต่อหรือไม่นี่ขึ้นอยู่กับช่วงแรกที่เรานำเข้าประเด็น ถ้าช่วงนั้นเราสามารถ hook คนเรียนได้ ก็จะทำให้การเรียนจนจบคาบเป็นไปได้อย่างราบรื่น อาจารย์ยกตัวอย่างวิธีการ hook คนเรียนเช่นการฉายภาพ case แล้วเล่าสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจให้ทุกคนฟังมีอีกเทคนิคที่เพื่อนที่มาเรียนด้วยลองใช้แล้วเราว่าดี คือแบ่งกลุ่มทำ Role Play ให้แต่ละคนแสดงความเห็นถึงสถานการณ์นั้นๆ จากมุมมองต่างๆ ที่ไม่ใช่มุมมองตัวเอง คิดว่ามันทำให้เราต้องคิดสองชั้น ว่าคนที่มีเบื้องหลังแบบไหนจะต้องคิดยังไง มันทำให้โฟกัสกับปัญหามากขึ้นด้วย

เวลาอาจารย์ให้ฝึกสอนเองก็จะต้อง reflect ตัวเองทุกครั้งว่าสิ่งที่ทำนี้เป็นอย่างไร และเป็นทุกครั้งที่ทำกิจกรรม วันนี้มีการเรียนการสอนที่ต้องให้นักศึกษา present เลยให้ reflect ด้วย มันเป็นการทำให้นักศึกษาคิดทบทวนสิ่งที่เพิ่งทำลงไป และเปิดเวลาให้คิดว่าเขามีอะไรขาดเหลือเพิ่มเติมไหมด้วยครับ

สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผมว่าแปลกใหม่ และสามารถจัดในห้องได้ไม่ยากเย็นก็มีเช่น
  • เล่นเกมจับผิดเพื่อสอน Regression towards the mean
    อาจารย์แจกลูกเต๋าคนละสองลูก ให้ทุกคนในห้องทอย แล้วนับดูแต้มรวมว่าใครทอยกันได้เท่าไหร่ (แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็จะเกาะกันอยู่ตรงกลางหรือ mean 7-8) ใครทอยได้แต้มรวมเป็น 12 ให้ทุกคนจับตาคนนั้นเอาไว้ แล้วให้เขาทอยใหม่ ทุกคนที่ทอยใหม่จาก 12 ก็จะลดลงมาเท่า mean
  • แจกสายวัดหัว แล้วให้เพื่อนวัดหัวคนข้างๆ กันสองครั้ง เพื่อเป็นการสอนว่าการวัดสามารถมี intra observer bias และ inter observer bias ได้
  • สอนการแปลผล Forest plot จาก Meta-analysis โดยการให้คนแต่ละคนออกไปยืนหน้าชั้นแล้วสมมติตัวเองเป็น Study แต่ละอัน กางมือ แล้วให้คนสุดท้ายคิดว่าตัวเองจะยืนอยู่ตรงไหนเพื่อเป็น pool
  • สอนการทำ RCT โดยแจกโค้กแบบมีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีนให้นักเรียนสองกระป๋อง แล้ววัด outcome เป็นการเต้นของหัวใจ โดยให้นักเรียนคิดเอาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรถึงจะทราบผล (นักเรียนก็ต้องคิดเอาเองว่าจะต้องดำเนินการ randomize อย่างไร concealment อย่างไร measurement แบบไหน -- ซึ่งผมว่าพอได้ทำเองนักเรียนน่าจะนึกภาพได้ชัดเจนกว่านั่งอ่านในสิ่งที่คนอื่นทำครับ)
ความวุ่นวายจากการแจกสายวัดหัวเพื่อสอนสถิติ


ก็เป็นอีกสิ่งที่ผมว่าน่าสนใจ และทำให้เราสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องได้ดีขึ้น ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยมหิดล (กลุ่มระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)​ที่ส่งผมไปซึมซับการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัย Oxford ในครั้งนี้ครับ



ถ่ายกับผู้ช่วยอาจารย์ และอาจารย์ แต่อาจารย์ดันหลับตาซะงั้น 55
         

4 ความคิดเห็น:

ช่วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้ด้วยนะครับ
Please leave your comments about this topic.